19 Mar
19Mar

หากจำไม่ผิด ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539 การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ จะต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดิน  รวมทั้งต้องติดตั้งเต้ารับไฟฟ้าชนิดที่มีขั้วสำหรับ สายดิน หลังจากนั้นไม่นาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ได้นำกฎเกณฑ์นี้มาใช้ด้วยเช่นกัน เพราะในอดีตมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้ไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง โดยสาเหตุใหญ่มาจากการถูกไฟดูดเนื่องจากไปสัมผัสหรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีไฟรั่ว ด้วยเหตุนี้สายดิน จึงได้กลายมาเป็นข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้านั่นเอง


ทำไมต้องต่อสายดิน


ไฟฟ้าแม้จะให้ประโยชน์แก่เรามากมาย แต่อันตรายจากการใช้ไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้นสายดินจึงมีไว้เพื่อเสริมความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า เช่น หากเกิดไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟส่วนที่รั่วนี้ จะไหลลงดินผ่านทางสายดิน (แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของเรา) ในกรณีที่ไปสัมผัสโดยไม่ได้ตั้งใจ และสายดินไม่เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ถูกไฟฟ้าดูดเท่านั้น บางกรณีสายดินยังมีส่วนช่วยจัดการกับสัญญาณรบกวนได้อีกด้วย


ทั้งนี้สายดินจะทำงานได้โดยสมบูรณ์ ปลายสายด้านหนึ่งของสายดิน ต้องมีการต่อลงดินด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้า ส่วนปลายสายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับพื้นผิวของวัตถุหรือโครงของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับพื้นดิน


รู้จักองค์ประกอบของสายดิน


สายดินมีองค์ประกอบหลักๆ 2 ส่วน ได้แก่ สายตัวนำไฟฟ้า (สายดินหรือสายต่อหลักดิน) และหลักดิน


สายดินที่ใช้ในระบบไฟฟ้าทั่วไป ภายในสายประกอบด้วยลวดทองแดง หุ้มฉนวนพีวีซี (PVC) ซึ่งตามมาตรฐาน กำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับกับสีเหลือง ซึ่งเป็นสีเฉพาะของสายดิน ทั้งนี้ขนาดสายต่อหลักดิน สามารถดูได้จากตารางที่ไห้ไว้ โดยเลือกตามขนาดตัวนำประธาน (สายเมน) ของระบบไฟฟ้า โดยทั่วไปที่อยู่อาศัยหรืออาคารขนาดเล็ก ขนาดตัวนำประธานจะไม่เกิน 35 ตารางมิลลิเมตร ดังนั้นสายต่อหลักดินจะใช้สายทองแดงหุ้มฉนวนขนาด 10 ตารางมิลลิเมตร


ส่วนหลักดิน (Ground Rod) คือแท่งโลหะที่ฝังลงในดินเพื่อเป็นตัวเชื่อมสายต่อหลักดินจากเมนสวิตช์เข้ากับดิน หลักดินที่ใช้โดยทั่วไปทำจากเหล็กหุ้มด้วยทองแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  16 มิลลิเมตร (5/8 นิ้ว) ความยาว 2.40 เมตร  และหลักดินที่ดีเมื่อตอกลงดินแล้วต้องมีความต้านทานการต่อลงดินไม่เกิน 5 โอห์ม


อุ่นใจเมื่อติดตั้งสายดินอย่างถูกต้อง


เมื่อพูดถึงเรื่องสายดิน ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก เพราะมองเป็นเรื่องไกลตัว และการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆก็ยังใช้งานได้อยู่ แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น มีคนในบ้านถูกไฟดูด อาจนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมและความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้บ้านพักอาศัย จึงต้องติดตั้งระบบสายดินให้ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้ระบบสายดินมีความปลอดภัยและใช้งานได้จริงนั่นเอง


ทั้งนี้การต่อลงดินแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การต่อลงดินที่เมนสวิตช์และการต่อลงดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเราจะต้องทำทั้งสองจุด จึงจะใช้งานได้อย่างสมบูรณ


การต่อลงดินที่เมนสวิตช์  ที่เมนสวิตช์จะต้องต่อสายนิวทรัล (N) ลงดิน สายนิวทรัลคือสายเส้นที่เมื่อเราใช้ไขควงวัดไฟวัดแล้วหลอดที่อยู่ในไขควงจะไม่เรืองแสง สำหรับเมนสวิตช์ที่เป็นคอนซูมเมอร์ยูนิต จะมีขั้วสำหรับต่อสายนิวทรัล ซึ่งจะมีเครื่องหมายแสดงจุดต่อลงดินไว้ ในการต่อสายลงดินจะใช้สายไฟฟ้าขนาดไม่เล็กกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร


การต่อลงดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า คือการใช้สายไฟต่อจากจุดต่อลงดินที่โครงของเครื่องใช้ไฟฟ้าเดินกลับไปต่อลงดินที่เมนสวิตช์ โดยใช้หลักดินแท่งเดียวกับของสายนิวทรัล ทั้งนี้สายดินจะเดินรวมไปด้วยกันกับสายวงจรที่จ่ายไฟให้เครื่องใช้ไฟฟ้านั่นเอง



การติดตั้งหลักดินนั้น จะต้องทำการตอกลงไปในพื้นดินโดยตอกลงไปตรงๆในแนวดิ่ง แต่หากในพื้นดินที่ตอกหลักดินลงไปมีวัตถุหรือสิ่งกีดขวางที่แข็งและไม่สามารถตอกหลักดินให้ทะลุลงไปตรงๆได้ กรณีนี้มาตรฐานได้อนุโลมให้ทิศทางที่ตอกลงไปในดิน สามารถเอียงไปได้ไม่เกิน 45 องศา หรืออาจใช้วิธีการขุดดินแล้วฝังแท่งหลักดินลงไปในแนวราบที่ความลึกไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร


ไม่ควรต่อโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินโดยตรง โดยเฉพาะการใช้ตะปูคอนกรีตตอกไปที่ผนังหรือพื้น เพราะตะปูคอนกรีตไม่สามารถทำหน้าที่แทนหลักดินได้ การต่อลงดินที่ได้ผลต้องเดินสายดินไปที่เมนสวิตช์


การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟดูด จะช่วยเสริมการป้องกันให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เช่น กรณีสายดินขาด เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: บ้านและสวน

ความคิดเห็น
* อีเมลจะไม่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์
I BUILT MY SITE FOR FREE USING